Natural Soap History

กำเนิดแห่งสบู่นั้นมีการค้นพบหลักฐานและบันทึกไว้หลายแหล่ง ตำนานสบู่ที่ฟังดูคลาสสิกและถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดของกำเนิดแห่งสบู่จากความบังเอิญที่สาวๆ ที่ไปซักผ้าบริเวณลำธารชื่อไธเบอร์ในยุคโรมันแล้วพบว่าเสื้อผ้าที่ไปซักสะอาดสะอ้านกว่าการซักทั่วๆ ไป และก็มีคนไปสืบหาที่มาก็พบว่าบริเวณใกล้ๆ ลำธารมีเนินเขาที่เขาชื่อ Sapo ที่ใช้บูชายันต์เสร็จแล้วก็มีการเผาซากสัตว์เหล่านั้น เกิดการผสมกันระหว่างไขมันกับเถ้าถ่านเป็นปฏิกิริยาของสบู่ แต่ในหลายๆ แหล่งก็เชื่อว่ากาผลิตสบู่ขึ้นใช้สำหรับชำระล้างร่างกายนั้น เจริญก้าวหน้าในอาริยธรรมของมุสลิม เพราะชาวมุสลิมต้องชำระล้างร่างกายถึงวันละ 5 ครั้งเพื่อละหมาดจึงทำให้มีการคิดค้นและพัฒนาสบู่ขึ้นมาใช้อย่างกว้างขวาง และยังมีเรื่องเล่าอีกว่า สมัยสงครามครูเสดนั้น นักรบชาวมัสลิมต่างเม้าท์มอยนักรบจากยุโรปว่า กลิ่นตัวเหม็นมาก เพราะสมัยนั้นอารยธรรมในตะวันออกกลางมีการใช้สบู่แล้วแต่ยุโรปยังไม่มี อันนี้ฟังดูก็น่าเชื่อถือ เพราะลองไปดูหนังยุโรปเก่าๆ จะเห็นว่าคนยุโรปสมัยโบราณเนื้อตัวดูสกปรกมอมแมม เล็บดำปิ๊ดปี๋บ้านช่องห้องหอดูสกปรกไปหมด จนเมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์เริ่มพัฒนา พบว่า แบคทีเรียและสิ่งสกปรกเป็นที่มาของเชื้อโรคและความเจ็บไข้ได้ป่วย จากนั้นยุโรปจึงเริ่มมีการใช้สบู่ในการชำระล้างร่างกาย ไหนๆ ก็ท้าวความกันแล้วขอนำประวัติสบู่ค่อนข้างละเอียดมาเล่าสู่กันฟังอีกสักครั้งก็แล้วกันนะคะ

—————————————————————

กำเนิดแห่งสบู่ จากความสะอาดสู่ความงามแห่งผิวพรรณ

“สบู่”ในภาษาไทยมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Soap” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า “Sapo” ซึ่ง Sapo ที่หมายถึงสบู่ในภาษาโรมันนั้น แท้ที่จริงเป็นชื่อของภูเขาของเรื่องเล่ากว่าพันปีก่อนคริสตกาลที่ถือว่ากำเนิดแห่งสบู่ก็ว่าได้ ว่ามีหญิงสาวชาวโรมันได้นำผ้าลงไปซักล้างในลำธารไทเบอร์ (Tiber River) ซึ่งอยู่ในบริเวณกรุงโรมนั่นเอง ได้สังเกตเห็นว่าผ้าที่นำมาซักในบริเวณนี้จะรู้สึกว่าสะอาดดีกว่าไปซักในบริเวณอื่นๆ โดยที่ในบริเวณใกล้ๆ กันกับลำธารแห่งนี้มีเนินเขาแห่งหนึ่งชื่อว่า เนินเขาซาโป (Sapo) ซึ่งในสมัยนั้นใช้เป็นสถานที่สำหรับบูชายันต์ และการบูชายันต์ก็มักจะสังเวยด้วยชีวิตสัตว์ ซากสัตว์เหล่านี้จะถูกนำไปเผาหลังจากมีพิธีกรรมเสร็จแล้ว จากการเผานี้เองทำให้ไขมันของสัตว์เหล่านั้นละลายออกมาและไหลไปผสมกับน้ำและขี้เถ้า ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าในบริเวณที่ซักผ้านั้นเป็นที่ซึ่งมีน้ำไหลลงมาจากเนินเขาซาโปและซึมผ่านชั้นดินลงมา เมื่อนำผ้าไปซักในบริเวณนั้นจะพบว่าผ้าสะอาดดีกว่านำไปซักในที่อื่น

ต่อมามีการค้นพบว่าไขมันหรือน้ำมันที่เกิดจากการนำสัตว์มาบูชายันต์ไหลผสมน้ำและขี้เถ้าที่เกิดจากการนำไม้มาเผาซากสัตว์ แล้วซึมผ่านลงไปสะสมตัวในชั้นดินเป็นตัวการที่ทำให้การซักผ้าสะอาดขึ้น นี่คือปฐมบทของการค้นพบปฏิกิริยาเคมีของสบู่ ซาปองนิฟิเคชั่น (Saponification)

ว่ากันว่า สบู่นั้นแท้ที่จริงเกิดขึ้นมาตั้งแต่อารยธรรมยุคแรกๆ ของมนุษย์เราเลยทีเดียว คือตั้งแต่สมัยบาบิโลน เมื่อราว 2,800 ปีก่อนคริสตกาล ทั้งนี้ก็เพราะมีการขุดพบไหใบหนึ่งซึ่งภายในมีเศษวัตถุที่มีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ผสมกับขี้เถ้าไม้ เชื่อกันว่าการทำวัตถุที่ว่าขึ้นมาในยุคแรกๆนั้น ไม่น่าจะทำเพื่อการใช้ทำความสะอาดร่างกาย แต่สันนิษฐานว่าสำหรับใช้ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้มากกว่า ในยุคต่อมาชาวฮีบรูก็ทำวัตถุคล้ายกันนั้นมาใช้เพื่อการซักล้างด้วย
ราวศตวรรษที่ 2 ชาวกรีกเริ่มรู้จักใช้สบู่เพื่อการรักษาโรคและทำความสะอาดร่างกาย ต่อเนื่องไปจนถึงยุคโรมันเรืองอำนาจ เชื่อกันว่ายุคนั้นชาวโรมันทำสบู่ขึ้นมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะชาวโรมันนิยมอาบน้ำกันอย่างยิ่ง แต่หลังจากสิ้นยุคโรมัน สบู่ก็เหมือนกับจะหายไปจากยุโรป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นในยุโรปหลายต่อหลายครั้ง เพราะการเป็นอยู่ที่สกปรกของผู้คนนั่นเอง
ในศตวรรษที่ 7 มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการผลิตสบู่เกิดขึ้นอีกครั้งในสเปนและอิตาลี โดยทำจากไขมันแพะผสมกับขี้เถ้าจากไม้บีช และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่ฝรั่งเศสก็เริ่มทำสบู่จากน้ำมันมะกอก และหลังจากนั้นจึงเริ่มมีการผสมส่วนประกอบอื่นๆ เข้าไปเพื่อให้มีกลิ่นหอมขึ้นมา สำหรับใช้เพื่อการชำระล้างร่างกายว่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สั่งตัดคอคนทำสบู่ไปถึงสามคน เนื่องจากสบู่ของพวกเขาทำให้พระฉวีเกิดอาการแพ้ขึ้นมา

ที่ตะวันออกกลางมีหลักฐานเป็นเอกสารที่บอกให้ทราบว่า ที่นั่นมีการผลิตสบู่ออกมาใช้กันแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และสบู่กลายเป็นสินค้าที่สำคัญในศตวรรษต่อมา แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่เมืองนาบลัส (Nablus แถบเวสต์แบงก์ ของปาเลสไตน์), ดามาสคัส (Damascus) และอัลเลปโป (Aleppo) ประเทศซีเรีย ซึ่งสบู่ที่ผลิตที่เมืองนี้มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ จะใช้ส่วนผสมของน้ำมันมะกอกกับน้ำมันจากใบ Laurel ที่ให้กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นสินค้าสัญลักษณ์เด่นของเมืองและสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมาจนถึงทุกวันนี้

ไปที่ประเทศอังกฤษบ้าง เมืองผู้ดีเริ่มทำสบู่ขึ้นมาใช้เองราวศตวรรษที่ 12 เช่นกัน และในปี ค.ศ.1633 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงพระราชทานสิทธิ์ในการทำสบู่แต่เพียงผู้เดียวแก่สมาคมผู้ผลิตสบู่แห่งเวสต์มินสเตอร์ (Society of Soapmakers of Westminster) ซึ่งทำมาจากส่วนผสมของกรดไขมันจากพืชหรือสัตว์กับด่างที่ทำจากโพแทสเซียม ไฮดรอกไซด์ หรือ โซเดียม ไฮดรอกไซด์ แสดงให้เห็นว่ายุคนั้นการใช้สบู่ที่อังกฤษเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากแล้ว การใช้สบู่ที่อังกฤษเพิ่มมากขึ้นอีกในยุคของควีนเอลิซเบธที่ 1 ว่ากันว่าสมัยนั้นการใช้สบู่ของชาวเมืองผู้ดีใช้สบู่กันมากกว่าชาติใดๆ ในทวีปยุโรปทั้งหมด
ส่วนสบู่อุตสาหกรรมอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 1 ความต้องการใช้สบู่เพื่อทำความสะอาดบาดแผลและซักล้างสิ่งสกปรกต่างๆ พุ่งขึ้นสูงมาก ขณะที่ส่วนผสมต่างๆ เพื่อทำสบู่กลับขาดแคลน นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันจึงคิดค้นสบู่ที่มีส่วนผสมใหม่ขึ้นมาจากสารสังเคราะห์